ทนง วีระกุล
ทนง วีระกุล ผู้สร้าง-กำกับหนังชีวิตสัตว์เรื่องแรกของไทย และเป็นผู้วางรากฐานการเขียนใบปิดหนังไทย วันเกิด : 3 มิ.ย. 2476 ทนง วีระกุล เป็นบุตรของนายปรุงกับนางสาคร วีระกุล มีพี่น้อง 5 คน -เริ่มเรียนหนังสือจากโรงเรียนวัดสารภี ในจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อที่โรงเรียนสหวิทย์ถึงชั้นม.3 จากนั้นเข้าเรียนชั้นม.4 ที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย -อายุ 16 ปี ทนงเดินทางเข้ากรุงเทพมาทำงานที่บริษัทโฆษณา ที่นี่เองที่เขาได้เรียนรู้การวาดรูปขีดเขียนซึ่งเป็นสิ่งที่เขามีใจรักอยู่แล้ว โดยดูจากการเขียนของผู้อื่นแล้วจดจำไว้ คือเรียนแบบ “ครูพักลักจำ” จนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเขียนป้ายโฆษณาได้อย่างดีในเวลาต่อมา การหากินด้วยพู่กันเริ่มขึ้นที่นี่และยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเอง -ทนงนี่แหละที่เป็นผู้คิดทำใบปิดโฆษณาหนังไทย ด้วยความที่เขามีฝีมือในการเขียนโปสเตอร์หนังเป็นอย่างดี เขาเป็นผู้ริเริ่มเอาสีชอล์คมาผสมกับสีโปสเตอร์สำหรับการเขียนให้ได้ภาพที่คม และได้ลองใช้เขียนใบปิดเป็นครั้งแรกในหนังเรื่อง “เสือเฒ่า” (2503) ของแท้ ประกาศวุฒิสาร -ในยุคก่อนหน้าเปี๊ยกโปสเตอร์ นับว่าทนงมีบทบาทและเป็นผู้วางรากฐานการเขียนโปสเตอร์จนมีการวิวัฒนาการเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ทนงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เขียนภาพด้วยสีชอล์คได้ดีที่สุด ทั้งๆที่เขาไม่เคยผ่านสถาบันการศึกษาแห่งใดมาก่อนเลย -จับพู่กันอยู่ถึง 10 กว่าปี เกิดความเบื่อหน่าย ทนงจึงคิดจะเอาดีทางสร้างหนัง การสร้างหนังเรื่อง “ป่าแดง” จึงเริ่มขึ้น แต่แล้วก็เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหากับ “คน”และ โดยเฉพาะ “ดาราใหญ่ผู้มีชื่อเสียง” ที่เขาบอกว่า ต้องเอาใจยิ่งกว่าพ่อแม่ พอเขาต้องการงานดีจึงเคี่ยวมากๆ ดาราก็ไม่พอใจ เกิดการขัดแย้งกัน จนสุดท้ายทนงเลยเลิกสร้างหนังเรื่อง “ป่าแดง”นี้ ฟิล์มที่ถ่ายไว้ก็ทิ้งไป! -ภายหลัง ดัวยความที่เบื่อหน่ายกับการทำงานกับคน เขาเลยหันมาสร้างหนังชีวิตสัตว์ ซึ่งเขารักเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เล็กๆ เวลาว่างชอบไปขลุกอยู่กับสัตว์ เขาเตรียมงานอยู่ 2 ปีเต็ม *เกร็ดของหนังเรื่อง “ไอ้แด่น -หนังเรื่อง “ไอ้แด่น” เป็นหนังสัตว์ตลอดเรื่อง มีเด็กหญิงวาสนา ลัดดาวัลย์ อายุเพียง 11 ขวบ (เป็นเด็กชาวบ้านธรรมดาๆ) มาเกี่ยวข้องก็เฉพาะตอนเริ่มเรื่องและบางตอนเท่านั้น -หนังเรื่องนี้ใช้สัตว์ประเภทต่างๆถึง 30 ประเภท จำนวนหลายร้อยตัว เช่น หมาไน, นกขุนทอง, ค่าง, นากกินปลา ฯลฯ มีพังพอนเป็นพระเอก ”-เรื่องราวของ “ไอ้แด่น” กล่าวถึงพังพอนชื่อ “ไอ้แด่น” ซึ่งโตมากับคน ต่อมาต้องพลัดพรากจากคนไปผจญชีวิตในป่าตามลำพัง มันจึงต้องเรียนรู้วิธีการต่างๆที่จะเอาชีวิตรอดในป่าด้วยตัวเอง ต้องเผชิญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด แต่มันก็สามารถเอาชีวิตรอดมาได้ -ทนงใช้ฟิล์มไปถึง27,000 ฟิต หรือ 270 ม้วน เพราะความยากลำบากในการถ่ายทำ -โลเคชั่นส่วนใหญ่ที่ใช้ในการถ่ายทำคือป่าในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, เขาใหญ่ และแก่งกระจาน -หนังเรื่องนี้ ผู้อำนวยการสร้างคือ ปรีชา วีระกุล, นายประพันธ์ เฮงตระกูล, นายธวัชชัย วีระกุล, นายลัทธิ วีระกุล, นวลปรางค์ วีระกุล และตัวเขาเอง (คนนามสกุลวีระกุลคือพี่น้องของเขาทั้งสิ้น) -สื่อบันเทิงในยุคนั้นยกย่องให้เขาเป็น “วอลท์ ดิสนีย์” เมืองไทย ข้อมูลและรูปจาก: Thai Movie Posters