2481
สนิมในใจ (2481/1938) “พรานบูรพ์” ร่วมมือร่วมใจ “ทิดเขียว” สร้างภาพยนตร์ไทย เรื่อง สนิมในใจ พรานบูรพ์แต่งเรื่อง-เพลง ทิดเขียว พากย์ไทย จวงจันทร์ จันทคณา กํากับการแสดง ไม่อยากจะคุยถึงความวิเศษของ “สนิมในใจ” ว่า ดีเพียงไหน ! แต่อยากจะชี้ให้ท่านเห็นว่า “จวงจันทร์” ผู้ทําหน้าที่เป็นผู้กํากับการลือนามครั้ง “อ้ายค่อม มากํากับการเรื่องนี้ และสมรรถภาพของ “ทิดเขียว” ที่ท่านชอบมาแล้ว! ฉายที่ ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๔-๕-๖ ธันวาคม
อ้ายค่อม (2481/1938) ค่อม อาศัยอยู่กับแม่สองคน ตอนเป็นเด็กด้วยความเมาของพ่อ ทำให้บ้านไฟไหม้เสียชีวิตในกองเพลิง คำ ซึ่งเป็นมารดาอุ้มค่อมแล้วโดดลงจากหน้าต่างได้ทัน เป็นสาเหตุทำให้ค่อมกลายเป็นคนพิการหลังค่อม แม่คำก็มาเจ็บออดๆ แอดๆ ค่อมจึงต้องออกหางานทำ วันหนึ่งค่อมเห็นคณะละครศรีเมืองตระเวนมาแสดง และได้รู้จักกับ เย็น ลูกสาวเจ้าของคณะละคร ซึ่งไม่มีทีท่ารังเกียจค่อมและมอบตุ๊กตาให้ ค่อมมุ่งมั่นที่จะหางานทำเพื่อเลี้ยงแม่ จึงไปขอทำงานกับ แนม ที่คณะละครศรีเมือง แนมเห็นความผิดปรกติของร่างกายของค่อมก็เกิดเวทนา จึงให้ค่อมเป็นผู้โปรยใบไม้ประกอบฉาก ในยามว่าง ค่อมมักจะแอบไปเล่นเปียโนเพลงที่แม่กล่อมตอนเป็นเด็ก วันหนึ่ง วิทย์ ผู้กำกับการละครเวทีได้ยินจึงนำไปแต่งเป็นเพลงในละครเรื่องใหม่ ขณะนั้นคณะละครบรรเทองไทยกำลังหาทางโค่นล้มละครศรีเมืองเนื่องจากดังกว่า โดยวางแผนฉุดเย็นซึ่งเป็นนางเอกละคร ค่อมกำลังนั่งรถขนฉาก ผ่านไปเห็นจึงรีบไปช่วยเย็นไว้ได้ เย็นจึงเชิญค่อมมาทานอาหารค่ำที่บ้านเป็นการตอบแทน คืนนั้น ค่อมบรรจงแต่งตัวไปอย่างดี แต่เมื่อก้าวเข้าไปในบ้าน ได้ยินเสียงของวิทย์กับเย็นร้องเพลงคลอกันอย่างมีความสุข จึงนึกเจียมตัวขึ้นมา แล้วกลับไปบ้าน ปรากฏว่าแม่คำอาการทรุดหนัก ค่อมอยู่พยาบาลแม่ทั้งคืนอาการก็ไม่ดีขึ้น จึงไปยังคณะละครเพื่อขอลางาน แต่ไม่ทันที่จะพูดอะไร แนมก็ให้ค่อมรีบไปปฏิบัติหน้าที่ ค่อมพะวงเพราะเป็นห่วงแม่ แล้วให้น้อยใจโชคชะตา จึงเหม่อลอยจนพลัดตกจากนั่งร้าน ก่อนตายค่อมได้ขอร้องเย็นเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยขับกล่อมดวงวิญญาณเขาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะของเย็น
วันเพ็ญ (2481/1938) เรื่องราวชีวิตของ พิศดาร ทนายความหนุ่มโสด ซึ่งจับได้ว่า สุดา หญิงที่จะแต่งงานด้วยในอีก 7 วันข้างหน้าไม่ได้รักเขาจริง พิศดารผิดหวังในความรัก เดินเหม่อลอยมาจนถึงถนนพญาไท จึงได้พบกับเด็กสาวอายุ 14 ปี นั่งร้องไห้อยู่เดียวดาย พิศดารเข้าไปพูดคุยกับเด็กสาวจนได้รู้ว่าเธอชื่อ วันเพ็ญ พ่อของวันเพ็ญฝากเธอไว้กับป้าที่ลพบุรีก่อนไปทำงานที่ประเทศจีน แต่ไม่เคยส่งข่าวกลับมา และสาเหตุที่เธอหนีออกจากบ้านก็เพราะป้ากำลังจะจับเธอแต่งงานกับหนุ่มชาวจีนที่เธอไม่ได้รักวันเพ็ญจึงหนีมาที่กรุงเทพ พิศดารสงสารจึงชวนเธอไปอยู่ด้วย และส่งเสียให้เรียนหนังสือจนโตเป็นสาว ท่ามกลางคำครหาว่าพิศดารเลี้ยงวันเพ็ญเอาไว้เป็นภรรยา อยู่มาวันหนึ่ง พ่อของวันเพ็ญกลับมารับเธอไปอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น พิศดารจึงต้องอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงาและทนทุกข์กับโรคนัยน์ตา ผ่านไปปีเศษวันเพ็ญกลับมายังกรุงเทพ จึงรีบตรงไปหาพิศดาร แต่บัดนี้พิศดารไม่สามารถมองเห็นวันเพ็ญได้อีกแล้ว
ตื่นเขย (2481/1938) อำนวย คล่องเชิงค้า เป็นพนักงานอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีภรรยาชื่อ ลัดดา วันหนึ่งเขาได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาการค้ากับ พระทวีผลกสิกรรม ผู้เป็นเอเย่นต์ขายน้ำตาลที่โคราช แต่ดันไปตกหลุมรัก ลออ ลูกสาวของพระทวีผลฯ ถึงขั้นอยากจะแต่งงาน ระหว่างที่ยังเจรจางานอยู่ที่โคราช เจ้านายได้ส่งโทรเลขให้อำนวยไปเจรจาการค้ากับ พระยาพิชัยพานิชย์ที่อุบล อำนวยก็ไปตกหลุมรัก บุญเกื้อ บุตรีพระยาพิชัยฯ อีก ด้านพระทวีผลฯ กับภรรยายังไม่ค่อยเชื่อถือในตัวอำนวยนัก ด้วยข้อที่ว่าอำนวยนั้นโอ้อวดว่ามีบ้านช่องใหญ่โต จึงพากันมาพิสูจน์ที่กรุงเทพ อำนวยร้อนใจกลัวความแตก จึงไปขอยืมบ้าน สันต์ เกลอเก่าตบตาพระทวีผลฯ ชั่วคราว หารู้ไม่ว่าสันต์เป็นหลานชายของพระทวีผลฯ ขณะเดียวกัน ครอบครัวของพระยาพิชัยฯ ก็กำลังเดินทางมาดูบ้านของว่าที่ลูกเขยด้วยความตื่นเต้นพระยาพิชัยฯ ได้พบกับพระทวีผลฯ ที่บ้านซึ่งอำนวยหลอกว่าเป็นของตน เมื่อได้พูดคุยกันจึงได้รู้ว่าพระทวีผลฯหมายมั่นให้ลออได้แต่งงานกับอำนวย พระยาพิชัยฯจึงเป็นฝ่ายลากลับ จีบ สาวใช้ของสันต์สุดจะทนกับพฤติกรรมเจ้าชู้ของอำนวยจึงไปฟ้องลัดดา ลัดดาจึงแกล้งมาสมัครงานเป็นคนใช้ของพระทวีผลฯ นับวันก็ยิ่งใกล้ถึงวันแต่งงานของลออกับอำนวย ลัดดาเจ็บใจสามีจึงจ้างวาน ปริก ให้มาประกาศความเป็นภรรยากลางงานอำนวยปฏิเสธพัลวัน แต่สุดท้ายก็จำนนด้วยหลักฐาน เมื่อลัดดาประกาศตัวว่าเป็นเมียของอำนวยตัวจริง พระทวีผลฯ จึงอดได้ลูกเขย
จ๊ะเอ๋ (2481/1938) เรื่องจ๊ะเอ๋เป็นหนังสั้น ที่ฉายก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ตื่นเขย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “หนังประกอบ” (Supporter) และเป็นหนังไทยเรื่องแรก ที่ใช้ สุนัขไทย เข้ามาแสดงด้วย
แม่สื่อสาว (2481/1938) เพราะบริษัทสบู่ตราหอยของ นายวาณิชย์ คล่องการค้า กับ วิไล น้องสาว มีท่าทีจะเจ๊งบรรดาหุ้นส่วนเฮโลกันมาทวงเงิน วาณิชย์กับวิไลจึงใช้ความกะล่อนหาวิธีต้มตุ๋นหุ้นส่วน ให้ยังทำมาค้าขายกับตนแบบขอไปที กระทั่งวาณิชย์นึกขึ้นได้ว่าตนยังมีคนรู้จักที่ชื่อ นายหน่ำ ท่องเที่ยว เศรษฐีบ้านนอกที่เคยบอกว่าอยากให้ตนหาสาวชาวกรุงมาแลกกับเงินจำนวนมากโขวาณิชย์และวิไลจึงรุดหน้าไปหานายหน่ำเพื่อทำการตกลง วิไลทำหน้าที่แม่สื่อสาว เสนอชื่อ คุณนายจำปาภักดีกุล เศรษฐีนีม่ายบ้าผู้ชาย สาวใหญ่ที่วิไลรู้จัก ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตร เพราะนายหน่ำดันมาตกหลุมรักวิไล ส่วนคุณนายจำปาก็ดันมาคลั่งไคล้วาณิชย์ ครั้นทุกอย่างคลี่คลาย บทสรุปจึงกลายเป็นว่านายหน่ำก็ได้ครองรักกับวิไลสมใจ ส่วนคุณนายจำปาก็ยอมอุทิศทั้งเงินและหัวใจให้วาณิชย์ บริษัทสบู่ตราหอยจึงรอดพ้นจากการล่มจม
หวานใจนายเรือ (2481/1938) ร.ท. เกษม ยุทธนาวิน ร.น. กับ ร.ต.ชลัชชาญนาวี ร.น. ต้องเดินทางไปฝึกยิงปืนป้อม ณ สถานีฝึกสัตหีบชั่วคราว วันหนึ่ง ขณะที่เกษมกับชลัชเดินเล่นที่ชายหาด ได้ยินเสียงร้องเพลงของหญิงสาว จึงเดินตามหาเสียงนั้น บังเอิญเห็นคนร้ายกำลังฉุดคร่าหญิงเจ้าของเสียง ทั้งสองจึงเข้าไปช่วย และโดนแทงบาดเจ็บ ชายชราคนหนึ่งวิ่งเข้ามาช่วย และพาเกษมไปทำแผลที่บ้าน จึงได้ทราบว่าหญิงสาวนั้นชื่อเพลินใจ อาศัยอยู่กับพ่อคือ พร เพียงสองคน พวกที่เข้ามาทำร้ายตนนั้นคือสมุนของ ทองอ่อน ซึ่งต้องการลายแทงขุมทรัพย์โจรสลัดที่พรครอบครอง จึงมักส่งสมุนมากลั่นแกล้งสองพ่อลูกอยู่เสมอ เกษมติดใจในน้ำเสียงของเพลินใจจึงเสนอให้เพลินใจไปเรียนร้องเพลงที่กรุงเทพ เพื่อให้เพลินใจพ้นน้ำมือของทองอ่อน โดยให้อาศัยอยู่ที่บ้าน พระยาพัศดุนาวา-การ ผู้เป็นบิดาของตน พรมีสีหน้าตกใจเมื่อได้ยินชื่อพระยาพัศดุฯ แต่ก็กำชับบุตรสาวให้อยู่ในโอวาทของท่าน ส่วนตัวเกษมเองต้องฝึกงานอยู่ที่สัตหีบต่อ เพลินใจตั้งใจเรียนร้องเพลงเป็นอย่างดีจนได้สมญานามว่า นักร้องเสียงทอง และเป็นที่หมายปองของ ประกอบ บุตรบุญธรรมของพระยาพัศดุฯ ไม่นาน เกษมก็กลับมารับราชการที่กรุงเทพฯ และเริ่มสนิทสนมกับเพลินใจมากขึ้นทำให้ พิศมัย คู่หมั้นของเกษมเกิดความหึงหวง ทองอ่อนสมคบกับ เถ้าแก่เลี่ยงฮง แซ่อึ้ง เจ้าของเรือตังเก ตามหาขุมทรัพย์โจรสลัด พรเริ่มกังวลว่าทองอ่อนจะรู้ที่ซ่อน จึงปรึกษา ทองต่อ น้องภรรยา ให้ไปเยี่ยมเพลินใจที่บ้านพระยาพัศดุฯ แทน และเล่าความหลังว่าหลังจากภรรยาเสียชีวิตได้ฝาก ประกอบ ลูกชายให้พระยาพัศดุฯ เลี้ยงดู และได้แอบซ่อนสมุดข่อยลายแทงขุมทรัพย์ในห้องเครื่องลายครามที่บ้านพระยาพัศดุฯ เมื่อทองต่อเดินทางมาพักที่บ้านพระยาพัศดุฯ ก็พยายามหาโอกาสขโมยสมุดข่อยแต่โดนประกอบจับได้ จึงต้องบอกความจริงว่าประกอบกับเพลินใจมีความเกี่ยวดองกันและรีบลากลับสัตหีบ พิสมัยร้องขอให้ คุณนายแจ่ม มารดา เร่งรัดการแต่งงานของตนกับเกษม พระยาพัศดุฯ จำต้องแบ่งรับแบ่งสู้ยอมตกลง เพลินใจกลับมาจากเรียนร้องเพลงเผอิญได้ยินสองแม่ลูกกล่าวดูถูกเหยียดหยามตนเอง บังเกิดเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงเก็บข้าวของกลับมาหาบิดาที่สัตหีบ จากนั้น พร เพลินใจ และทองต่อก็เริ่มออกตามหาขุมทรัพย์ จนในที่สุดก็พบหีบสมบัติบรรจุเพชรนิลจินดาและทองคำมากมายทองอ่อนซึ่งสะกดรอยตามมาจึงแย่งชิงสมบัติไป เกษม ชลัช และประกอบนำเจ้าหน้าที่ไล่ตามทองอ่อนจนทัน เกิดการปะทะกันแต่ก็จับกุมทองอ่อนกับพวกได้สำเร็จ
ขุนช้างขุนแผน ภาค 4 ตอน ขุนช้างกินเลี้ยง-สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ (2481/1938) สมเด็จพระพันวัสสา ประทานสร้อยฟ้า และ ศรีมาลา แก่ พระไวย ในคืนเลี้ยงฉลองการแต่งงาน วันทองกับขุนช้างมาร่วมงานด้วย ขุนช้างดื่มเหล้าเมามาย ร้องรำทำเพลงเป็นที่น่าหนวกหู และด้วยความมึนเมาจึงคะนองปากกล่าวคำหยาบคายต่อพระไวยเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ขุนช้างสู้ไม่ได้ไปฟ้องพระพันวัสสา พระพันวัสสาไต่สวนได้ความว่าขุนช้างเป็นฝ่ายผิด จึงสั่งจำคุกขุนช้าง ต่อมาพระไวยไปลักพาตัวนางวันทองมาให้ขุนแผน ขุนช้างถวายฎีกาแด่พระพันวัสสา เมื่อไต่สวนหาคนผิดไม่ได้ จึงให้วันทองตัดสินใจว่าจะอยู่กับขุนช้างหรือขุนแผน วันทองสองใจเกิดลังเลตอบไม่ได้ พระพันวัสสาจึงรับสั่งให้นำวันทองไปตัดหัว ที่บ้านพระไวย สร้อยฟ้ากับศรีมาลาตบตีกันไม่เว้นแต่ละวัน จนกระทั่งพระไวยทนการกระทำของสร้อยฟ้าไม่ไหวจึงสั่งเฆี่ยนสร้อยฟ้า สร้อยฟ้าเสียใจและเคียดแค้นศรีมาลามากขึ้นกว่าเดิม จึงไปหาทิดขวาดให้ช่วยทำเสน่ห์ให้
ถ่านไฟเก่า (2481/1938) พระยาอุปถัมภ์ เป็นคนหวงสมบัติมาก ด้วยความที่กลัวเงินทองของตนจะรั่วไหล จึงบังคับให้ อดุลย์ ลูกชายคนโตแต่งงานกับ สมนึก ลูกสาวของลำไย น้องสาวของตน แต่อดุลย์แอบมีเมียลับๆ อยู่แล้วชื่อ จินตนา ซึ่งมีฐานะยากจน พระยาอุปถัมภ์ยื่นคำขาดว่าจะตัดพ่อตัดลูกหากอดุลย์ไม่เลิกกับเมียเก็บ อดุลย์จึงบากหน้าไปขอเลิกกับจินตนาและมอบเงินให้จำนวนหนึ่ง จินตนาผู้ยึดมั่นในศักดิ์ศรี ไม่ขอรับเงินและออกจากชีวิตของอดุลย์ไปอย่างเด็ดเดี่ยว แล้วไปอยู่กับป้าที่นครสวรรค์ผ่านไปปีเศษ เถ้าแก่เอี้ยหลง ปู่ของจินตนาเสียชีวิต ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้จินตนา เธอจึงเดินทางไปรับมรดกและอยู่กับป้าที่สงขลา เถกิง น้องชายของอดุลย์ต้องไปรับราชการที่สงขลา ก่อนเดินทาง พระยาอุปถัมภ์ได้กำชับให้เถกิงไปทำความรู้จักกับหลานสาวเถ้าแก่เอี้ยหลง เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าร่ำรวย และละโมบอยากได้สมบัติคนอื่นมาสมทบสมบัติของตน จึงทำให้เถกิงได้พบจินตนาโดยไม่รู้ว่าเธอคืออดีตเมียเก็บของพี่ชาย จินตนาจำนามสกุลของเถกิงได้ จึงคิดแก้เผ็ดพระยาอุปถัมภ์และอดุลย์ด้วยการแกล้งทำเป็นสนิทสนมกับเถกิงต่อหน้าคนทั้งหลาย ถ่านไฟเก่าจึงปะทุ อดุลย์เกิดความหึงหวงจินตนา เมื่อถูกอดุลย์ละเลยบ่อยครั้งเข้าสมนึกจึงหันไปรักกับเถกิง วันหนึ่ง สมนึกบังเอิญได้รู้ความจริงว่าจินตนาเคยเป็นเมียเก็บของอดุลย์ จึงไปหารือกับอดุลย์เพื่อซ้อนกลจินตนา ด้วยการประกาศหมั้นต่อหน้าธารกำนัล พระยาอุปถัมภ์สมปรารถนา แต่จินตนาเกิดความเศร้าขึ้นในจิตใจ พระยาอุปถัมภ์เกิดความสงสัยในพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของทั้งสี่ ก็ปีนไปแอบฟังบนต้นไม้ที่ทุกคนหลบมาคุยกัน แล้วความจริงก็กระจ่างว่าจินตนาและอดุลย์ยังมีใจให้แก่กัน ก่อนจะร่วงหล่นลงมากลางวงสนทนา พระยาอุปถัมภ์ก็หยุดเจ้ากี้เจ้าการ เพราะยังไงแกก็ได้หลานสาวเศรษฐีเป็นลูกสะใภ้อยู่ดี
ลูกกำพร้า (2481/1938) ท่านใดยังไม่ได้ดู ควรหาโอกาศไปดูเสีย เพราะหมดโปรแกรมนี้ จะส่งไปต่างจังหวัดแล้ว
ในสวนรัก (2481/1938) ชื่น ลูกชายคนเดียวของ นายเชยเศรษฐีเจ้าของทุ่งสาลีแห่งนครชัยศรี กำลังจะไปเรียนต่อที่กรุงเทพ ก่อนเดินทางชื่นมาบอกลา พิม คนรักซึ่งเป็นเพื่อนตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อมาถึงกรุงเทพแทนที่ชื่นจะตั้งใจศึกษาร่ำเรียน กลับเอาเงินที่นายเชยส่งเสียไปปรนเปรอวิลัย ผู้หญิงหากิน หลงลืมพิมเสียสิ้น อีกฟากหนึ่ง พระยาวินิจวิจารณา ข้าราชการเบี้ยบำนาญเดินทางมานครชัยศรีเพื่อขายที่ให้แก่นายเชยได้พบพิมที่อาสาพายเรือไปส่งที่บ้านนายเชย ระหว่างทางได้พูดจากันจึงรู้ว่าพิมคือลูกสาวของ พร น้องสาวของตน พระยาวินิจฯ จึงขออุปการะพิมให้ไปอยู่ที่กรุงเทพ แล้วล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ให้นายเชย เมื่อมาอยู่กรุงเทพได้สักพัก พิมก็ต้องประหลาดใจมาก เพราะตกกลางคืนพระยาวินิจฯ มักจะไม่อยู่บ้าน จึงชวน ต่อม คนใช้แอบสะกดรอยตามพระยาวินิจฯ จนมาถึงภัตตาคารที่ซึ่งวิลัยทำงานอยู่ แทนที่จะได้พบพระยาวินิจฯ พิมกลับได้พบชื่นกำลังครวญเพลงอยู่แทน ต่อมช่วยพาชื่นให้มาพบกับพิม เมื่อชื่นเห็นพิมอยู่ในสถานที่แบบนี้ก็เข้าใจผิด ด่าทอพิมเสียๆ หายๆ พิมเสียใจเป็นอันมาก จึงเขียนจดหมายถึงนายเชยเล่าสิ่งที่ตนพบ เพื่อให้นายเชยเรียกตัวชื่นกลับนครชัยศรี เมื่อนายเชยได้ทราบข่าวจึงหยุดส่งเงินให้ชื่นทันที เมื่อวิลัยรู้ว่าชื่นไม่มีเงินก็ตีจากไป ชื่นสำนึกในความผิดจึงกลับไปขอคืนดีกับพิม
เพลิงพิศวาส (2481/1938) สุวรรณเกสร บุตรี ท้าวพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีผู้มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก แต่นางมีลักษณะประหลาดอย่างหนึ่ง คือตั้งแต่เกิดจนอายุได้สิบห้าไม่พูดกับชายใดเลย แม้พระบิดานางก็ไม่พูดด้วยจนสร้างความแปลกพระทัยต่อท้าวพรหมทัตยิ่งนัก ท้าวพรหมทัตจึงสั่งแต่งสารไปถึงเจ้านครต่างๆ ว่าพระองค์จะยกพระธิดาให้ หากมีใครสามารถชวนพระธิดาเจรจาด้วยได้พระองค์ก็จะจัดงานอภิเษกสมรสและยกพระนครให้ครอบครอง แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ กระทั่ง สรรพสิทธิ์บุตรเศรษฐีผู้มีสติปัญญาและเวทมนต์ ทราบเรื่องจากอำมาตย์ท่านหนึ่ง สรรพสิทธิ์จึงได้เข้าเฝ้าพระธิดา พร้อมทั้งหว่านล้อมพระธิดาด้วยนิทานเวทย์มนต์ปริศนา พาให้พระธิดาเกิดความข้องใจจนตรัสถามและเกิดชอบพอในการสนทนา สรรพสิทธิ์จึงได้อภิเษกสมรสกับนางสุวรรณเกสรทั้งได้ครองรักและดูแลพาราณสีร่วมกัน ทว่า นานวันเข้า สรรพสิทธิ์เสวยสุขารมณ์กับนางสุวรรณเกสรจนชักเบื่อหน่ายกับความมั่งมีในวัง จึงขอลาพระชายาออกประพาสไพรกับพี่เลี้ยงคู่ชีวิตที่ไว้วางพระทัย แต่ระหว่างประพาส สรรพสิทธิ์บังเอิญเห็นร่างของกวางตัวหนึ่งนอนตาย ก็นึกสนุกจึงถอดดวงวิญญาณเข้าสิงร่างกวางเพื่อเชยชมธรรมชาติในป่า ฝ่ายพี่เลี้ยงเห็นทีว่าร่างอันไร้วิญญาณของสรรพสิทธิ์จะเป็นประโยชน์แก่ตน จึงเข้าสิงร่างสรรพสิทธิ์หมายแอบอ้างครองบัลลังก์และตัวเจ้าหญิง แต่เพราะเจ้าหญิงและสรรพสิทธิ์นั้นรู้ทัน จึงหาทางวางแผนด้วยเล่ห์กลและเวทย์มนต์ จนสามารถกำจัดพี่เลี้ยงทรยศและกลับคืนสู่พาราณสีตามเดิม