แม่ศรีเมือง (2484)
แม่ศรีเมือง (2484/1941) หลังจากสามีเสียชีวิต ศรีเมือง จึงแต่งงานกับ หลวงภรตชำนาญ ศรีเมืองมีลูกติดชื่อประดิษฐ์ เช่นเดียวกับชำนาญก็มีลูกสาวชื่อ วารินทร์ ชีวิตคู่ของทั้งสองราบรื่นได้ไม่นานก็เกิดปัญหา เนื่องจากชำนาญเริ่มติดเหล้าและการพนันอย่างหนักจนเป็นหนี้สินจึงต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นไม่นาน ศรีเมืองก็ฆ่าตัวตาย ประดิษฐ์และวารินทร์ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่ต่อมาบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะสงคราม ประดิษฐ์ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรับใช้ชาติ แต่ประดิษฐ์กลับขายชาติจึงถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตในภายหลัง
เลือดไทย (2484)

เลือดไทย (2484/1941) สร้างจากชีวิตแท้ของไทยใกล้แม่โขงที่ยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อป้องกันอิสรภาพและทรัพย์สิน เพราะโจรหมู่หนึ่งคอยรังควาน ปล้นสะดมอยู่ไม่หยุด แม้ว่าเลือดจะสาดราดแผ่นดิน ไทยในยามนี้ก็คิดแต่เพียงว่า เขาสูญสิ้นแต่ร่างกาย ส่วนชื่อเสียงของผู้ทำดีย่อมไม่หายไปจากโลกนี้เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่าเช่นนี้ ... แต่ก็ใช่ว่าจะไร้เสียซึ่งความรักความหวานหยาด เยิ้มเสียทีเดียวไม่ .. เลือดไทยต้องสู้ - สู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ถ้าสู้ไม่ได้ก็จงเอาร่างของเราถมไว้บนแผ่นดินไทยนี้ ดีกว่าจะต้องตกไปเปนทาษของผู้อื่น ... เมื่อเกิดมีคน ขายชาติ, หมู่คณะ ขายชาติเกิดขึ้นเพียงคนเดียว ผลที่ได้ รับก็คือ ... ภายในค่ายน้อย ๆ ที่ชาวไทย - เลือดไทยเรา ต้องร่วมใจกันสู้ฝ่ายอธรรม - สู้ - สู้ จนกระทั่งโลหิตหยด สุดท้าย เพื่อเกียรติศักดิ์ของไทย ... อย่างนี้ใครจะทนได้ แต่ถ้าใครไม่ปรารถนาที่จะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก็ต้องสู้ - สู้เพื่อไว้ลายของชายชาติเสือ ผู้มีเลือดเนื้อเป็นไทย ... นี่คือคนขายชาติ แนวที่ 5 ฉะนั้น จงร่วมใจร่วมกายกันปราบ ปรามแนวที่ 5 เสียแต่บัดนี้ (ที่มา: นิตยสารประมวลภาพยนตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2484)

แม่จ้าวฟ้า (2484)
แม่จ้าวฟ้า (2484/1941) ในคืนวันแต่งงานของพี่สาว โพ สาวชาวดอยไปเดินเล่นที่ห้วยสาวไห้ และได้พบกับ เจน หนุ่มชาวกรุงที่เข้ามาเดินป่าเพื่อหาว่านผาไปทำยาตามวิชาแพทย์ที่ศึกษามา เจนกำลังกลัดกลุ้มที่ยังหาว่านผาไม่พบโพสงสารจึงคอยช่วยเหลือเจนและหาของต่างๆ มาปรนนิบัติ เจนซาบซึ้งในน้ำใจโพ ทั้งสองเผลอใจทำผิดประเพณีในคืนวันหนึ่ง โดยไม่รู้ว่า พราย ซึ่งแอบชอบโพมานานแอบเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด พรายรีบไปฟ้อง ตาเพิ่น พ่อของโพ ตาเพิ่นโกรธมาก ยื่นคำขาดให้เจนทำตามประเพณีของชาวดอย เจนไม่สามารถทำได้จึงพาโพหนีจากห้วยสาวไห้ไปอยู่กรุงเทพ ตั้งใจจะขัดเกลากิริยามารยาทของโพ แล้วค่อยพากลับมาหาตาเพิ่น แต่โพก็ต้องพบกับความชอกช้ำ เพราะความจริงเจนมีภรรยาอยู่แล้วชื่อ สายใจ โพทนทุกข์เพราะความหึงหวงของสายใจ และโดนดูถูกเหยียดหยามในความเป็นสาวชาวดอย ในที่สุดโพก็ตัดสินใจกลับมายังห้วยสาวไห้ด้วยความเสียใจ
แดนคนเดน (2484)
แดนคนเดน (2484/1941) ในตำบลทุ่งพญาลอ มีชาวนาสองครอบครัวทำนาอยู่ใกล้ๆ กัน พ่อของ ทับ และเทียบ มักจะมีปากเสียงเรื่องการล้ำเขตการทำนากับพ่อของ เครือ อยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้งสองมีปากเสียงกันอย่างหนักจนพ่อของเครือพลั้งมือฆ่าพ่อของทับเสียชีวิต ทับตรงดิ่งไปที่บ้านเครือด้วยความโกรธแค้น และกระหน่ำยิงพ่อของเครือเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเองระหกระเหินหนีเข้าไปในป่า และพลัดเข้าไปในฝูงโจรซึ่งมี เสือฉาย เป็นหัวหน้า เสือฉายเห็นแววของทับจึงชักชวนให้มาเป็นสมุนออกปล้นเสบียงชาวบ้าน วันหนึ่งทับได้รู้ว่าเสือฉายโกงเงินส่วนของตนเอาไปให้ เปลื้อง นำไปสู่ขอเครือ ทับจึงฆ่าเสือฉายและบุกเข้าไปในงานแต่งงานของเปลื้องกับเครือ แม่ของทับเข้ามาห้าม ทำให้ทับสำนึกผิด เปลื้องฉวยโอกาสคว้าปืนยิงทับเสียชีวิต เทียบหยิบมีดแทงเปลื้องแก้แค้นแทนพี่ชาย
ใจไทย (2484)
ใจไทย (2484/1941) เป็นภาพยนตร์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่กิจการของกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2483 กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย นายแพทย์ยง ชุติมา ขุนสงัดโรคกิตติขุนสอนสุขกิจ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ไปแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพที่หนีความทารุณของฝรั่งเศสในอินโดจีน จากตำบลไพลินมาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ขุนประสงค์สุขการี ข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสงเคราะห์ และพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปชมการทำถนนบนเขาเกลือ ทำเสื่อจันทบูรณ์ การทำพลอย พาไปศาลเจ้าตากสิน ศาลากลางจังหวัดซึ่งกำลังแห่โฆษณาฉายภาพยนตร์การกุศลเพื่อหาเงินช่วยผู้อพยพ จากนั้นจึงพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีมาขึ้นรถที่ท่าโรงสีกานหลี ไปเยี่ยมเยียนผู้อพยพที่อำเภอมะขาม ผู้อพยพส่วนมากเป็นชาวกุหล่าที่หนีมาจากตำบลไพลิน ขุนประสงค์สุขการีและขุนสงัดโรคกิตติ ตัวแทนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ขึ้นกล่าวปราศรัย ก่อนจะแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพ และกลับไปยังจังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมเยียนคนงานทำถนนบนเขาเกลือ วันที่ 26 ธันวาคม 2483 นายพันโท ขุนจำนงภูมิเวท รักษาการอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์พร้อมข้าราชการในกรมไปตรวจเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดจันทบุรีผู้อพยพ ทหาร และตำรวจในนามของนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพันตรีประพันธ์ รองผู้บังคับการทหารม้าปืนใหญ่และข้าราชการจังหวัดจันทบุรีให้การต้อนรับที่ท่าเรือ ค่ำวันนั้นมีการฉายภาพยนตร์ของกรมประชาสงเคราะห์จากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2483 กองพลจันทบุรีได้จัดให้มีพิธีเดินผ่านธงชัยเฉลิมพล ที่ค่ายทหาร
พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
กิ่งกาฝาก (2484)
กิ่งกาฝาก (2484/1941) ทิดเขียว พากย์อย่าง ฝากรัก-ฝากอาลัย ! ภาพยนตร์ไทยพากย์ เรื่อง กิ่งกาฝาก ของ ทิดเขียว ฝากไว้กับท่านที่รักจะดูภาพยนตร์ไทยพากย์ ของ "ทิดเขียว" ที่ ฝากรัก ฝากอาลัย
แม่ร้อยชั่ง (2483)

แม่ร้อยชั่ง (2484/1941) ชีวิตรัก .... ชีวิตแม่เรือนที่ไร้เดียงสาของแม่สาวชนบทที่ต้องแต่งงานไปตามความเห็นชอบของพ่อแม่ ในที่สุด, ต้องระหกระหนต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ เท่าที่ผู้หญิงจะทำได้ (ที่มา: นิตยสารประมวลภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2483)

กอกาหลง (2484)
กอกาหลง (2484/1941) ท่านต้องการรสใดๆ ในความบรรเทองจากการชมภาพยนตร์ จะพบพร้อมทุกรสใน "กอกาหลง" ซึ่งประพันธ์และกำกับการแสดงโดย "แม่ราตรี" (ที่มา: นิตยสารชุมนุมภาพยนตร์ สิงหาคม พ.ศ. 2484)
เจ้าหญิงกุณฑลทิพย (2484)
เจ้าหญิงกุณฑลทิพย (2484/1941) ณ นครเวียงจันทร์ เจ้านันทเสน ผู้ครองนคร ทรงมีธิดาซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามนามว่าเจ้าหญิงกุณฑลทิพย์ นางผู้เป็นที่หมายปองของชายหนุ่มทั่วแคว้น หนึ่งในนั้นคือ เจ้าชัยสาร ชายผู้หมายจะได้หัวใจของเจ้าหญิงไปครอง แต่ติดตรงที่เจ้าหญิงมิทรงมีใจและปฏิเสธรัก ทำให้เจ้าชัยสารได้แต่ทนชอกช้ำ เจ้าหญิงทรงมีพระญาติคือท่านผู้หญิงทองสุกอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงคิดจะเดินทางมาเที่ยวในกรุงเทพฯ แต่ในระหว่างที่ท่องเที่ยวและพักอยู่กับท่านผู้หญิง เจ้าหญิงกลับได้พบรักกับหลวงสุนทรอิศร ข้าราชการกระทรวงวังผู้มีความรู้จักมักคุ้นกับท่านผู้หญิงอยู่แต่เดิม ชายผู้มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีและพร้อมจะรับเจ้าหญิงมาดูแลด้วยดวงใจ ซึ่งทำให้เพียงไม่นานเจ้าหญิงก็ตัดสินใจตกปากรับคำขอแต่งงานจากคุณหลวงพร้อมกับความยินยอมจากผู้ใหญ่ ร้อนไปถึงเจ้าชัยสารที่รู้ข่าวว่าเจ้าหญิงทรงไปแต่งงานกับคนอื่นจึงตามมาหมายทำลายความรักและชิงตัวเจ้าหญิง ด้วยการยื่นคำท้าให้หลวงสุนทรอิศร ออกมาดวลกับตน ณ ทุ่งมหาเมฆ ใครชนะคือคนที่ได้เจ้าหญิงไป ซึ่งด้วยความที่คุณหลวงคือชายชาตรีจึงยืดอกรับคำท้า หารู้ไม่ว่าเจ้าชัยสารคิดตลบหลังสั่งการให้เพื่อนตนแอบลอบยิงคุณหลวงในขณะต่อสู้ เป็นเหตุให้คุณหลวงถึงแก่ชีวิตในขณะเดียวกับที่เจ้าหญิงตามมาในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงตรอมใจฆ่าตัวตายตามคุณหลวง เมื่อเจ้าชัยสารเห็นดังนั้นก็ทนต่อความชั่วช้าที่มีสาเหตุมาจากตนต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจปลิดชีพตัวเองตามทั้งสอง เรื่องจึงจบลงด้วยความเศร้าโศกแสนอาลัย
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
Placeholder

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ